ประเทศไทย รีวิวสถานที่ท่องเที่ยว

โครงการหลวงอ่างขาง สถานีเกษตรเชียงใหม่ ชมดอกไม้สวย เที่ยวหน้าหนาวสุดฟิน

ติดRoam ต้องบอกเลยว่าช่วงหน้าหนาว สถานที่ท่องเที่ยวสุดฟินคงหนีไม่พ้น จ.เชียงใหม่ ที่มีแหล่งท่องเที่ยวมากมาย โดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ โครงการหลวงอ่างขาง หรือ สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง ที่ถือเป็นหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวที่มีเสน่ห์ดึงดูด สวยงาม อากาศบริสุทธิ์ เหมาะสำหรับการรับลมหนาว ท่ามกลางดอกไม้สวยนานาชนิด ซึ่งที่นี่ยังถือเป็นโครงการหลวงแห่งแรกของประเทศไทยอีกด้วย

สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง จ.เชียงใหม่ โครงการหลวงแห่งแรกของไทย

สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง ถือเป็นสถานที่ท่องเที่ยว จ.เชียงใหม่ ที่มีความสำคัญ เพราะสร้างขึ้นเป็นสถานีวิจัยแห่งแรกของโครงการหลวง ตามพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ว่า “ให้ช่วยเขา ช่วยตัวเอง” โดยมีพระราชประสงค์ เพื่อให้ชาวไทยภูเขาที่พักอาศัยตามดอยทางภาคเหนือของประเทศไทย เลิกปลูกฝิ่น และทำไร่เลื่อนลอย ที่ถือเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ป่าไม้และต้นน้ำลำธารของไทยถูกทำลายอย่างหนัก จนทำให้ภูเขาหัวโล้น ซึ่งจากโครงการนี้จึงทำให้ขุนเขาของไทยกลับมาเขียวขจี อุดมสมบูรณ์

เมื่อปี พ.ศ. 2512 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรกลุ่มชาวเขา ณ บ้านดอยปุย (ใกล้กับ พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์) จึงทราบว่า ชาวไทยภูเขาที่ปลูกฝิ่นขาย แต่ยังคงยากจน จึงรับสั่งถามว่านอกจากการปลูกฝิ่นเพื่อการขายแล้ว ยังมีพืชชนิดอื่นๆ หรือเปล่า และได้รับคำตอบว่า นอกจากการขายฝิ่น ชาวเขายังเก็บท้อพื้นเมืองขายด้วย แม้ผลของลูกจะมีขนาดเล็ก แต่ก็ยังสามารถขายได้ และได้เงินเท่าๆ กัน

ต่อมาทรงทราบว่า สถานีทดลองดอยปุย สถานที่ทดลองไม้ผลเมืองหนาวของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ถือเป็นสถานที่ทดลองกิ่งพันธุ์ท้อลูกใหญ่มาต่อกับต้นตอท้อพื้นเมือง จึงได้มีการค้นคว้าหาพันธุ์ท้อที่มีความเหมาะสมกับประเทศไทย เพื่อให้ออกผลได้ขนาดใหญ่ มีรสหวานฉ่ำ ที่สามารถสร้างรายได้ให้กับชาวเขาได้สูงไม่แพ้ฝิ่น โดยมีการมอบเงินพระราชทานจำนวน 200,000 บาท ให้กับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อให้จัดหาที่ดินสำหรับงานวิจัยไม้ผลเมืองหนาวเพิ่มเติม เนื่องจากสถานีทดลองดอยปุยมีพื้นที่ที่คับแคบ ซึ่งเรียกพื้นที่นี้ว่า สวนสองแสน

ต่อมา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งโครงการหลวงขึ้น เมื่อ พ.ศ. 2512 ซึ่งถือเป็นการเริ่มต้นโครงการส่วนพระองค์ โดยมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการในตำแหน่งผู้อำนวยการ อย่าง หม่อมเจ้าภีศเดช ซึ่งในระยะแรกมีชื่อเรียกโครงการว่า “โครงการหลวงพระบรมราชานุเคราะห์ชาวเขา” โดยพระองค์ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ รวมกับเงินอื่นๆ ที่มีผู้ทูลเกล้าฯ ถวาย เพื่อเป็นงบประมาณในการดำเนินงานต่างๆ โดยโครงการมีเป้าหมาย ดังนี้

  • เพื่อเข้าช่วยชาวเขาที่ยากจน
  • เพื่อช่วยให้ชาวไทยภูเขาลดการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ อย่าง ป่าไม้และต้นน้ำลำธาร
  • เพื่อการกำจัดการปลูกฝิ่น
  • เพื่อการรักษาดินและใช้พื้นที่อย่างถูกต้อง คือ ให้ป่าอยู่ในพื้นที่ของป่า และการทำไร่ ทำสวน อยู่ในพื้นที่ควรเพาะปลูก โดยแบ่งแยกพื้นที่กันอย่างชัดเจน อย่างให้มีการรุกล้ำซึ่งกันและกัน

ในการดำเนินงานของโครงการหลวง มีอาสาสมัครจากมหาวิทยาลัยและหน่วยงานต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะเป็นนักวิชาการทางด้านต่างๆ เข้ามาช่วยดำเนินงานถวาย ทำให้โครงการปฏิบัติงานได้อย่างก้าวหน้า รวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของงานวิจัยไม้ผลเมืองหนาวชนิดต่างๆ ที่ทางเกษตรกรไทยสามารถนำไปปลูกทดแทนฝิ่นได้อย่างยอดเยี่ยม

ต่อมา พ.ศ. 2537 ทางด้านของ โครงการควบคุมยาเสพติดของสหประชาชาติ (UNDCP) ได้ทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญทอง เพื่อสดุดีพระเกียรติคุณในการแก้ปัญหายาเสพติดของไทย โดยการส่งเสริมให้ชาวเขาเลิกปลูกฝิ่น และหันมาปลูกพืชอื่นแทน จึงกล่าวได้ว่าโครงการหลวงนี้ เป็นโครงการแรกของโลกที่นำการปลูกพืชชนิดอื่น แทนการปลูกฝิ่น

ในช่วงระยะแรก ไม่มีใครรู้ว่าควรเริ่มต้นปลูกพืชชนิดไหนบนดอยที่มีอากาศหนาวเย็น จึงทำให้โครงการหลวงเริ่มดำเนินงานวิจัยไม้ผลเมืองหนาวที่มีความเหมาะสมกับพื้นที่สูงของประเทศ โดยเมื่อปี 2512 ได้ตั้ง สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง หรือ โครงการหลวงอ่างขาง เพื่อการทดลองปลูกพืชเมืองหนาวชนิดต่างๆ ในพื้นที่บริเวณหุบเขาสูงของดอยอ่างขาง ตำบลม่อนปิน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่

แนะนำสถานที่เที่ยวใน สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง

  1. สวนแปดสิบ สวนกลางแจ้งที่ตั้งอยู่ตรงข้ามกับสโมสรอ่างขาง มีการตกแต่งสวนในสไตล์อังกฤษ ที่มีดอกไม้ประดับปลูกหมุนเวียนตลอดทั้งปี ซึ่งทางด้านบนจะมีลาน ต้นซากุระญี่ปุ่น ที่จะออกดอกเบ่งบานสีชมพูสวยตลอดทางในช่วงเดือนธันวาคม-มกราคม ถือเป็นจุดที่นักท่องเที่ยวชอบมากันมากที่สุด
  2. สวนหอม สวนที่ได้รวมรวมพันธุ์ไม้นานาชนิดที่ส่งกลิ่นหอมทั้งของไทยและต่างประเทศ ถ้านักท่องเที่ยวเดินผ่านจะสามารถรับชมดอกไม้สวย และกลิ่นหอมจากดอกไม้นานาพรรณ
  3. สวนบอนไซอ่างขาง สวนที่จัดแสดงพันธุ์ไม้หลากชนิด ซึ่งในยุคแรกเริ่มมีการตั้งสถานีเพื่อการปลูกเลี้ยงในกระถางแบบบอนไซ ไม่เท่านั้น ภายในสวนยังมีพืชทนแล้ง พืชกินแมลง และสวนหินธรรมชาติ จุดชมวิว ให้นักท่องเที่ยวสามารถเข้าเยี่ยมชมได้
  4. โรงเรือนดอกไม้ การจัดสวนดอกไม้ประดับจากเมืองหนาว ซึ่งภายในโรงเรือนจะมีการตกแต่งน้ำตก มุมนั่งเล่น
  5. โรงเรือนกุหลาบตัดดอก การรวบรวมนำเอากุหลาบชนิดตัดดอกสายพันธุ์ต่างๆ จากประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยมีร้านค้าของที่ระลึกติดกับโรงเรือน จะจำหน่ายสินค้าจากโครงการหลวงและสินค้าชุมชน
  6. โรงเรือนรวบรวมพันธุ์ผัก การจัดแต่งสวนด้วยผักเมืองหนาวหลายชนิด รวมไปถึงพืชสมุนไพรจากโครงการหลวงชนิดต่างๆ
  7. แปลงบ๊วย ต้นบ๊วยที่ได้ปลูกตั้งแต่ช่วงก่อตั้งโครงการแรกๆ ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นต้นใหญ่ที่แตกกิ่งก้านสาขาสวยงาม ร่มเย็น
  8. แปลงไม้ผลตามฤดูกาล สวนผลไม้เมืองหนาวที่มีการจัดอยู่ในสถานีฯ อ่างขาง ที่มีให้นักท่องเที่ยวได้รับชม เช่น พี้ช พลับ สาลี กีวี่ และอื่นๆ

แนะนำสถานที่เที่ยวชุมชน บริเวณรอบๆ โครงการหลวงอ่างขาง

  1. หมู่บ้านนอแล ที่พักอาศัยของชาวเขาเผ่าปะหล่อง (ดาราอั้ง) มีวิถีชีวิต วัฒนธรรม และการแต่งกายที่มีความแปลกตา แต่โดดเด่นและสวยงาม มีงานหัตถกรรมที่โดดเด่น จะมีการจัดงานปีใหม่ปะหล่องเดือนเมษายน ที่มีงานแสดงโชว์ฟ้อนนางร้อยเงิน ฟ้อนดาบ ที่งดงาม
  2. หมู่บ้านขอบด้ง ที่พักอาศัยของชนเผ่าลาหู่ (มูเซอ) มีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย มีหัตถกรรมพื้นบ้าน อิบูแค ที่เป็นกำไรที่มีสีสันสวยงาม สวยแปลกตาและมีความประณีต ถือเป็นหนึ่งสิ่งที่มีวางจำหน่ายเป็นของฝากภายในโครงการ
  3. ชุมชนชาวจีนยูนนาน (บ้านคุ้ม บ้านหลวง บ้านปางม้า) จุดที่มีร้านจำหน่ายของที่ระลึกให้กับกลุ่มนักท่องเที่ยว เช่น ชา สมุนไพร ผลไม้แห้ง เป็นต้น

แนะนำกิจกรรมที่นักท่องเที่ยวพลาดไม่ได้

  1. ปั่นจักรยานชมธรรมชาติ ทาง โครงการหลวงอ่างขาง มีบริการปั่นจักรยาน ที่สามารถติดต่อเช่าจักรยานได้ที่สโมสรอ่างขาง จะสามารถปั่นชมความงามของธรรมชาติภายในสถานีได้ตามอัธยาศัย
  2. ขี่ฬ่อชมธรรมชาติ ทางสถานีเกษตรหลวงอ่างขางมีการจัดกลุ่มชาวบ้านที่นำเอาฬ่อมาให้บริการแก่นักท่องเที่ยว โดยการขี่เพื่อรับชมสถานที่ท่องเที่ยวตามจุดต่างๆ
  3. เส้นทางศึกษาธรรมชาติ เส้นทางรับชมแปลงปลูกป่าภายในสถานีฯ ที่มีการนำเข้าของพันธุ์ไม้จากประเทศไต้หวัน ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถเดินตามเส้นทางเพื่อรับชมได้
  4. การดูนก ภายในสถานีฯ มีนกหลากหลายพันธุ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฤดูหนาว จะมีนกอพยพหาดูยากโบยบินมายังสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง จนเกิดเป็นชมรม “ฅนรักษ์นกอ่างขาง” โดยทางโครงการจะมีจุดรับชมและมีข้อมูลให้บริการนักท่องเที่ยวที่สนใจดูนกอีกด้วย

แนะนำสถานที่ท่องเที่ยวอื่นๆ โครงการหลวงอ่างขาง

  1. พิพิธภัณฑ์โรงงานหลวงที่ 1 จะมีการจัดแสดงนิทรรศการเรื่องราวการก่อตั้งโครงการหลวง และโรงงานดอยดำ โดยตั้งอยู่ที่ หมู่บ้านยาง (ระหว่างทางขึ้น อ่างขาง) หยุดทุกวันจันทร์
  2. อุทยานแห่งชาติฟ้าห่มปก เป็นยอดดอยที่มีความสูงอันดับที่ 2 ของประเทศไทย โดยมีความสูงโดยประมาณที่ 2,285 เมตร ซึ่งด้านบนจะมีทิวทัศน์ที่สวยงาม มีทะเลหมอก สามารถขึ้นมารับชมพระอาทิตย์ยามเช้า และพระอาทิตย์ตกยามเย็น ที่มีความงดงามอย่างมาก

ดอยผ้าห่มปก เป็นจุดที่มีหมากคลุมจัดที่หนึ่งในประเทศไทย ทำให้พื้นที่นี้มีอากาศหนาวเย็นตลอดทั้งปี ทำให้มีพันธุ์ไม้ป่าและสัตว์ป่าหายาก ที่มีความน่าสนใจ อย่างเช่น บัวทอง เทียนหาง ผีเสื้อมรกตผ้าห่มปก ผีเสื้อไกเซอร์อิมพิเรียล ผีเสื้อหางดาบตาลไหม้ ผีเสื้อหางติ่งแววเลือน นกปรอดหัวโขนก้นเหลือง และอื่นๆ

ของฝาก ของที่ระลึกจาก โครงการหลวงอ่างขาง

  • ผลิตภัณฑ์ที่อยู่ภายใต้ตราสินค้า “ดอยคำ” เช่น สินค้าแปรรูป ผักและผลไม้สดปลอดสารพิษ รวมไปถึงดอกไม้เมืองหนาวในช่วงฤดูกาลต่างๆ
  • งานหัตถกรรมผ้าทอหมู่บ้านนอแล ที่มีจำหน่าย ผ้าคลุมไหล่ ผ้าพันคอ ย่าม ฯลฯ ที่มีทั้งความสวยงามและความประณีต
  • หัตถกรรมพื้นบ้านหมู่บ้านขอบด้ง ที่มีจำหน่าย อิบูแค (กำไลที่ถักด้วยหญ้า และนำมาย้อมสี สานลวดลายของมูเซอ)

การเดินทางไปยัง โครงการหลวงอ่างขาง หรือ สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง

  • ที่อยู่ : หมู่ 5 ตำบลแม่งอน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่
  • เปิดให้เข้าชม : 08.00-18.00 น.
  • โทร : 0-5396-9476-8

การเดินทางเส้นทางที่ 1 เริ่มจากตัวเมืองเชียงใหม่ ขับรถไปตามถนนหมายเลข 107 เชียงใหม่-ฝาง ผ่านอำเภอแม่ริม แม่แตง เชียงดาว ไชยปราการ ไปจนถึง กม.ที่ 137 แล้วเลี้ยวซ้ายเพื่อขับเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 1249 ขึ้นไปอีก 25 กิโลเมตร ขับไปเรื่อยๆ จนถึงดอยอ่างขาง ซึ่งเส้นทางตรงนี้จะลาดชันมาก

การเดินทางเส้นทางที่ 2 เริ่มจากตัวเมืองเชียงใหม่ ขับรถไปตามถนนหมายเลข 107 เชียงใหม่-ฝาง จนถึงแยกเมืองงาย จากนั้นเลี้ยวสู่ทางหลวงหมายเลข 1178 จะผ่านบ้านอรุโณทัย จากนั้นขับขึ้นดอยอ่างขางอีก 45 กิโลเมตร

โดยทั้ง 2 เส้นทางที่กล่าวมา จะใช้ระยะเวลาประมาณ 3 ชั่วโมง